วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ต้นกำเนิดของเครื่องซีร็อกซ์


ต้นคิดเครื่องถ่ายเอกสาร มีชื่อว่านาย เชสเตอร์ คาร์ลสัน ทนายความของบริษัทแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก ตอนนั้นปี พ.ศ. 2479 (ตึกเวิลด์เทรดยังไม่แจ้งเกิดในนิวยอร์กซะด้วยซ้ำ) นายเชสเตอร์ ต้องตรวจเอกสารในบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง และรู้สึกว่าสำเนาเอกสารของสิ่งประดิษฐ์ในสิทธิบัตรนั้นมีไม่พอใช้งาน จะให้ไปพิมพ์ใหม่ก็ได้อยู่หรอก แต่เสียเวลามาก ที่ต้องพิมพ์และตรวจทานกันใหม่ หากจะไปใช้วิธีถ่ายภาพจากเอกสารยิ่งแพงไปกันใหญ่ นายคาร์ลสัน ซึ่งเป็นทนายความและนักประดิษฐ์สมัครเล่น จึงคิดหาทางทำเครื่องที่ถ่ายสำเนาเอกสารให้รวดเร็ว
ว่าแล้วจึงไปหาข้อมูลที่ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กทุกวัน เน้นการศึกษาผลงานนักวิทยาศาสตร์ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแสงกับไฟฟ้าสถิต อ่านไปอ่านมา ในที่สุดคาร์ลสันก็ไปเจอผลงานการค้นคว้าของนายพอล เซเลนยี นักฟิสิกส์ ชาวฮังการี ซึ่งพบว่า แสงจะเพิ่มสภาพการนำกระแสไฟฟ้าสถิตของวัตถุนั้นได้คาร์ลสันจึงเริ่มค้นหาว่าวิธีนำความรู้นี้มาใช้ในกระบวนการสร้างภาพด้วยไฟฟ้าสถิต เริ่มด้วยการเช่าห้องทดลองในย่านแอสโตเรีย ของนิวยอร์ก และหาผู้ช่วยนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ชื่อ ออตโต คอร์นี มาทดลองกระบวนการสร้างภาพในห้องทดลองแห่งนี้ ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2481 คอร์นีเขียนคำว่า "10-22-38 แอสโตเรีย" ลงบนแผ่นกระจกสำหรับกล้องจุลทรรศน์ จากนั้นก็เคลือบแผ่นสังกะสีด้วยผงกำมะถัน แล้วถูแรงๆ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าสถิต จากนั้นก็ประกบแผ่นกระจกเข้ากับแผ่นสังกะสีเคลือบกำมะถัน และนำแผ่นทั้งสองไปวางใต้หลอดไฟฟ้าแบบขดลวดที่สว่างจ้า แล้วเผ่าผงที่เคลือบไว้ให้หลุดออกมาบางส่วน เหลืออยู่แต่คำว่า "10-22-38 แอสโตเรีย" เหมือนต้นฉบับแทบจะไม่ผิดเพี้ยน เป็นอันว่าเครื่องถ่ายเอกสารที่นายคาร์ลสันหมายมั่นไว้ก็ใกล้เป็นจริง แต่ในปี พ.ศ. 2482 บริษัทกว่า 20 แห่ง ไม่ยอมซื้อสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ของนายคาร์ลสัน แม้ว่าต่อมาคาร์ลสันจะได้รับความช่วยเหลือให้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพิ่มเติม แต่ก็กินเวลาอีกหลายปีกว่าเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องแรกจะปรากฏโฉมในปี พ.ศ. 2502 เครื่องถ่ายเอกสารเครื่องแรกก็เปิดตัว ในชื่อว่าเครื่องถ่ายรุ่น 914 โดยใช้ระบบที่เรียกว่า xerography ( ซีโรกราฟฟี ) มาจากภาษากรีก แปลว่า "แห้ง" และ "เขียน" เพียงแค่กดปุ่ม ก็ถ่ายสำเนาลงบนกระดาษขาวได้อย่างง่ายดาย นวัตกรรมนี้ประสบความสำเร็จท่วมท้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เครื่องถ่ายเอกสารซีร็อกซ์ ก็กระจายไปทั่วโลก และอยู่ในสถานที่ทำงานเกือบทุกแห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น